ภาวะเสพติด แบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ
1) ติดสารเสพติด เช่น เหล้า บุหรี่ ยาคลายเครียด ยาไอซ์
2) ติดพฤติกรรม เช่น ติดเกมส์ โซเชี่ยล ติดการพนัน ติดเซ็กส์
สำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะเสพติด การเลิกเสพไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินความสามารถ ถ้าคุณได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีโดยมีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทั้งนี้การหยุดยาหรือหยุดพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวโดยไม่แก้ที่ต้นเหตุนั้น ผลที่ได้รับจะไม่ยั่งยืน จะเห็นตัวอย่างได้จากคนหลายๆคนที่พยายามเลิกแต่ก็เลิกได้ไม่นาน สุดท้ายก็กลับมาติดเหมือนเดิม การรักษาภาวะเสพติดที่ต้นเหตุต้องใช้เวลา แต่ผลที่ได้จะยั่งยืนและคุ้มค่า
เพราะไม่มีวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่ใช้ได้ผลกับทุกคน โปรแกรมการรักษาต้องสอดคล้องกับปัญหาและสถานการณ์ของแต่ละคน และจะต้องออกแบบให้ครอบคลุมมากกว่าการเลิกเสพ ทั้งนี้เพราะปัญหาที่เกิดจากภาวะเสพติดส่งผลกระทบในวงกว้าง นอกจากความเสื่อมในร่างกายและจิตใจของคนติด มันยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เพื่อน สังคม และหน้าที่การงาน โปรแกรมการรักษาที่มีประสิทธิภาพจึงต้องมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่ไปด้วย
การรักษาของผมนั้น ขั้นแรกเลยจะเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อหาสาเหตุ ผมจะใช้วิธีสอบถาม สัมภาษณ์ และใช้แบบทดสอบเพื่อประเมินผล ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานและสำคัญที่สุด เพราะถ้ารักษาโดยหาสาเหตุไม่เจอหรือวินิจฉัยพลาด การรักษาก็จะไม่เห็นผล เมื่อได้ข้อมูลครบแล้ว ผมจะออกแบบการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยจิตบำบัดหรือรับคำปรึกษา การรักษาแบบปรับวิธีคิดและพฤติกรรม การพูดคุยระบายความรู้สึก การค้นหาสาเหตุความเครียด การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม การให้กำลังใจ ฝึกการเผชิญปัญหา ฝึกผ่อนคลายด้วยเทคนิคต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้อาการดีขึ้นและหายในที่สุด
- จีโน่ นภนต์ สุนทรกนิษฐ